หนาง


หนางเป็นการถนอมอาหารประเภทหมักดองเนื้อสัตว์อีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันแพร่หลายทางภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดตรัง โดยทั่วไปแล้วหนางที่ทำด้วยเนื้อวัว  จะเรียกว่า  "หนางวัว" และหากใช้เนื้อหมูจะเรียกว่า "หนางหมู"


วิธีการทำ

๑. การทำหนางมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

๑.๑  นำเนื้อวัว หรือเนื้อหมู(ปกติจะนิยมเอาเศษเนื้อ เช่น เนื้อหัว เนื้อติดกระดูกและหนัง)มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หนา ๑ เซนติเมตร ล้างน้ำให้สะอาด

๑.๒  นำเนื้อที่ล้างสะอาดมาคลุกด้วยหน่อไม้ หยวกกล้วย เกลือ น้ำตาลปี๊บ และข้าวสารคั่วบดละเอียด (อาจใช้น้ำตาลทรายก็ได้)

๑.๓  นำไปใส่ไห ปิดปากให้แน่นสนิท เก็บไว้ในที่ร่ม ประมาณ ๗-๑๐ วัน หนางจะมีกลิ่นหอม รสเปรี้ยว หนางที่ได้นี้เป็นหนางดิบ พร้อมที่จะนำมาปรุงอาหารได้


๒.การปรุงอาหารจากหนาง
หนางสามารถนำมาปรุงได้หลายแบบ  เช่น  แกง ต้ม นึ่ง แต่ที่นิยมกันแพร่หลายก็คือหนางต้ม ซี่งมีวิธีการทำดังนี้

๒.๑ เครื่องปรุง

หนางดิบ          ๑    ถ้วย
กะทิ                 ๒   ถ้วยครึ่ง
ตะไคร้             ๑    ต้น
หอมแดง          ๑    หัว
กระเทียม          ๒  หัว
ขมิ้นแก่จัด
พริกขี้หนู
น้ำตาลทราย
เกลือ


๒.๒ วิธีปรุง

๑) เอากะทิตั้งไฟให้เดือดทุบตะไคร้ หอม กระเทียม ขมิ้น ใส่ลงในหม้อ
๒) ใส่หนางลงต้มและเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ ต่อไปจนหนางสุก
๓) ทุบพริกชี้ฟ้า เติมน้ำตาล เกลือ ตามชอบ
๔) ยกเสริฟเป็นกับแกล้ม หรือกินกับข้าวสวยร้อน ๆ


ประโยชน์

๑.เป็นการถนอมอาหารวิธีการหนึ่งของคนภาคใต้ สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน คนที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ห่างไกลจากตลาด สามารถเก็บอาหารโปรตีนไว้ปรุงอาหารได้ทุกวัน          
๒.รับประทานหนางแล้วได้สารอาหารโปรตีน และไขมัน วิตามินบี          
๓.หนางสามารถนำไปปรุงกับข้าวได้หลายชนิด ทั้งต้ม ทอด และแกง